วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2559

"เริ่ดอย่างนี้มีบ้านเดียว (Koudai-ke no Hitobito)" ถ้าเราอ่านใจคนอื่นได้ก็คงดี

โดย วินิทรา นวลละออง จากคอลัมน์มหัศจรรย์การ์ตูน ใน นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 4 ธ.ค. 2559



คุณสุภาพสตรีท่านหนึ่งแวะมาเล่าให้ฟังว่าหลังจากปรับเพิ่มยาไปครั้งที่แล้ว
อาการเครียดกังวลของเธอก็ดูจะไม่ทุเลาขึ้นเลย อาจจะมากขึ้นกว่าแต่ก่อนด้วยซ้ำ
เนื่องจากเธอ “ทำตัวเป็นคนดีมากเกินไป” เรื่องของเรื่องคือ เธอเข้าสู่วัยกลางคนแล้ว
และเคยทำงานออฟฟิศมาช่วงหนึ่งหลังเรียนจบใหม่ๆ แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง
ทำให้เธอไม่ชอบบรรยากาศที่ทำงานนัก จึงลาออกมาช่วยกิจการร้านขายของชำของที่บ้านแทน 


เธอมีปัญหากับน้องสาวอยู่เสมอโดยเฉพาะเรื่องเงินทอง เนื่องจากเคยช่วยกันผ่อนซื้ออพาร์ตเมนต์ในเมืองด้วยกัน
แต่พอเธอย้ายกลับบ้าน น้องสาวกลับยึดเป็นชื่อตัวเองโดยไม่คืนเงินส่วนที่เธอเคยผ่อนให้ตั้งหลายเดือนกลับมา

“เขาเอาเปรียบมาตลอดตั้งแต่เด็กค่ะ พอไม่อยากทำอะไรก็ร้องโวยวายพ่อแม่ก็เลยตามใจ
ครั้งก่อนไปเที่ยวกับที่บ้านก็เอาแต่บ่นว่าไอ้นู่นไม่ดีไอ้นั่นไม่ดีทั้งที่เราต้องเหนื่อยวางแผนกินเที่ยวให้ทุกคน
พอถึงตอนออกเงินก็บอกว่าไม่รู้เก็บกระเป๋าเงินไว้ไหนให้เราออกไปก่อน
ที่จริงแกล้งทำเป็นลืมหรือเปล่าก็ไม่รู้ เอาเปรียบแบบนี้ตลอด”


“เป็นไปได้ไหมคะว่าเขาไม่ได้แกล้งลืม”

“ก็อาจจะไม่ได้แกล้งลืมหรอกค่ะ อาจจะเอาไปซื้อของหมดแล้วแต่ไม่กล้าบอกก็ได้
เราก็กลัวแม่จะเป็นห่วงก็เลยจำใจออกเงินให้ไปก่อน สุดท้ายเขาก็โอนคืนมานะคะ
แต่ทำไมไม่รู้จักเตรียมให้พร้อมด้วย มีแต่เราต้องคอยเป็นคนดีอยู่คนเดียว
บอกใครก็ไม่ได้ บอกแม่แม่ก็หาว่าเราคิดไปเองตลอด”

 
ฟังแล้วเข้าใจความทุกข์ของเธอนะคะ ลองจินตนาการว่าถ้าเราต้องอยู่ในโลกที่มีแต่คนเอารัดเอาเปรียบ
หรือจ้องแต่จะหาประโยชน์จากเรา ชีวิตคงไม่มีความสุข จุดที่น่าสงสัยคือวิธีคิดของเธอเป็นแบบมองว่าตัวเองดี
หรือถูกเสมอในระหว่างที่น้องสาวทำอะไรก็แย่ไปหมด กระทั่งสถานการณ์ที่อาจจะตีความในทางดีก็ได้อย่างการลืมเงิน
และสุดท้ายน้องสาวก็โอนคืนมา เธอก็ยังเชื่อว่าน้องสาวแกล้งทำเป็นลืมหรือไม่ก็เอาไปใช้จนหมดแล้วไม่กล้าบอก
หรือต่อให้ลืมจริงก็ไม่รู้จักเตรียมตัวให้ดี เธอมั่นใจมากว่าทุกสิ่งที่น้องสาวทำเป็นเรื่องแย่ทั้งนั้น
และมั่นใจมากว่าเธอเป็นคนดีมากเกินไปจึงถูกเอาเปรียบ


คงจะดีถ้าเราอ่านใจคนอื่นได้เพราะถ้าเดาเอาเองโดยมั่นใจว่าเราเดานิสัยคนอื่นได้ถูกต้อง
ทั้งที่อาจจะเดาผิดไปมากกว่าครึ่ง ปัญหาความสัมพันธ์ก็อาจจะตามมาได้ค่ะ
การ์ตูนอ่านใจที่น่ารักที่สุดในช่วงนี้หนีไม่พ้น “เริ่ดอย่างนี้มีบ้านเดียว” กล่าวถึงครอบครัวไคโด
ซึ่งมีลูก 3 คน และคุณย่าชาวอังกฤษที่สามารถอ่านใจคนอื่นได้ มีสมาชิกครอบครัว 2 คน ที่อ่านใจใครไม่ได้
แต่สามารถอยู่ในครอบครัวนี้ได้อย่างราบรื่นคือพ่อและแม่ของลูกทั้งสามค่ะ
สองคนนี้ควรเป็นตัวอย่างให้คนที่อ่านใจคนอื่นไม่ได้อย่างเราเลยทีเดียวค่ะ


แม้คุณแม่จะถูกลูกและแม่สามีอ่านใจได้แต่ที่เธอยังคงใช้ชีวิตได้อย่างสงบสุข
เนื่องจากเธอเป็นคนปากตรงกับใจอย่างมาก คิดอย่างไรก็จะทำอย่างที่คิด
ดังนั้น ต่อให้อ่านใจเธอได้ก็ไม่มีประโยชน์เพราะของที่อยู่ในใจเธอกับที่ปากพูดออกมาเหมือนกัน
ไม่ต้องอ่านใจก็รู้ และรู้แล้วก็ใช่ว่าจะทำอะไรเธอได้เพราะถ้าเธออยากทำอะไรก็จะทำ ห้ามไม่ได้อยู่ดี
อีกคนหนึ่งคือคุณพ่อที่แม้คนอื่นในบ้านจะอ่านใจได้ก็ไม่ได้ช่วยเพราะคุณพ่อเป็นคนที่แทบไม่คิดอะไรเลย
ไม่มีความละเอียดอ่อนและอ่านบรรยากาศไม่ออกว่าตอนนี้ควรหรือไม่ควรพูดอะไร
เรียกว่าเป็นคนที่ความคิดไม่ซับซ้อนนัก คิดแล้วก็ทำโดยไม่ได้คิดล่วงหน้าถึงผลที่อาจจะตามมา
คุณพ่อจึงอยู่กับคุณแม่ได้เพราะไม่คิดมากอะไรกับความเจ้ากี้เจ้าการของคุณแม่
และคุณแม่ก็รู้ว่าต่อให้คุณพ่อไม่ชอบใจบางเรื่องที่เธอทำก็จะไม่ได้เก็บมาคิดเล็กคิดน้อยนานนัก

 
มีหลายทฤษฎีทางจิตวิทยาว่าด้วยเรื่องบุคลิกภาพที่ช่วยให้เราอ่านใจคนอื่นได้อย่างอ้อมๆ
หรือพูดอย่างสวยงามคือการเดาใจคนอื่นอย่างมีหลักการนั่นเอง
การหาเหตุผลโดยใช้อารมณ์ของตนมาอธิบายเหตุการณ์และเชื่อตามนั้นจริงๆ
เรียกว่า “Emotional Reasoning” เช่นที่คุณสุภาพสตรีรู้สึกไม่ชอบน้องสาว
ความไม่ชอบทำให้อธิบายทุกเรื่องที่น้องสาวทำไปในทางไม่ดีทั้งหมด
จริงอยู่ว่าสิ่งที่เธอคาดเดาเกี่ยวกับน้องสาวอาจจะถูกต้องเกือบทั้งหมด
แต่การเดาถูกหรือผิดอาจไม่ได้สำคัญมากเท่าความเชื่อของเธอทำให้ชีวิตมีความสุขหรือไม่
เราอาจจะมีความสุขและยังคงอยู่ในความเป็นจริงได้ถ้ามองโลกตามความเป็นจริงที่มีทั้งด้านร้ายและด้านดี
น้องสาวก็เคยทั้งเอาเปรียบและช่วยเหลือเธอ นี่เป็นแนวคิดของ positive psychology ค่ะ

 
แต่ถ้าเราไม่สามารถคาดเดาความคิดของอีกคนได้เลย
โลกเทคโนโลยีก็มีงานวิจัยที่น่าสนใจให้เราคาดเดาได้ว่า
ผู้ใช้สมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์กับผู้ใช้ไอโฟนมีบุคลิกภาพแตกต่างกันอย่างไร
อาจจะใช้อธิบายทุกคนไม่ได้แต่ก็ทำให้เห็นแนวโน้มที่น่าสนใจค่ะ
การศึกษานี้ทำร่วมกันหลายมหาวิทยาลัยในอังกฤษโดยให้อาสาสมัคร 500 คน
ตอบคำถามเกี่ยวกับตัวเองและทัศนคติต่อสมาร์ทโฟนที่ใช้
ข้อแตกต่างที่เห็นชัดคือผู้ใช้ไอโฟนมีแนวโน้มเป็นผู้หญิง
และมีแนวคิดว่าไอโฟนเป็นเครื่องแสดงสถานะทางสังคมมากกว่า
เมื่อเปรียบเทียบแนวคิดนี้กับผู้ใช้ระบบแอนดรอยด์ที่หน้าตาเครื่องใกล้เคียงกัน
นอกจากนั้น ผู้ใช้ไอโฟนยังมีแนวโน้มไม่ค่อยสนใจว่าต้องซื้ออุปกรณ์ที่คนส่วนใหญ่นิยมซื้อ
ในทางตรงข้าม ผู้ใช้สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์มีแนวโน้มเป็นผู้ชายที่อายุมากกว่า
และไม่ค่อยสนใจเรื่องความร่ำรวยหรือสถานะทางสังคมนัก
ด้านบุคลิกภาพหลักที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
คือผู้ใช้ระบบแอนดรอยด์จะเป็นคนที่จริงใจและเชื่อถือได้มากกว่า
ไม่ได้หมายความว่าผู้ใช้ไอโฟนจะไม่จริงใจและเชื่อถือไม่ได้นะคะ
เขาแค่เปรียบเทียบและพบความแตกต่างในทางสถิติเท่านั้นเอง


แม้จะเป็นการคาดเดาที่หยาบที่สุดจากระบบโทรศัพท์ที่ใช้แต่อย่างน้อยก็เป็นจุดตั้งต้นของความสัมพันธ์ที่ดีค่ะ
เราจะเข้าใจเพื่อนที่ใช้ระบบแอนดรอยด์มากขึ้นว่าทำไมเขาไม่ค่อยเสี่ยงใช้ข้าวของที่แปลกใหม่ไม่มีใครใช้กัน
และเข้าใจเพื่อนที่ใช้ไอโฟนว่าทำไมชอบเสี่ยงใช้ข้าวของที่แปลกหรือคนอื่นเขาไม่ใช้จังเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น